รถกระบะ Isuzu และ Mazda พบช่วงล่างมีปัญหา จ่อโดนฟ้องในออสเตรเลีย
รถกระบะ Isuzu D-Max และ Mazda BT-50 รวมถึงรถ SUV พื้นฐานกระบะอย่าง Isuzu MU-X ที่ผลิตในไทย ส่อโดนฟ้องจากลูกค้าในออสเตรเลียหลังพบปัญหาช่วงล่างผิดปกติ
Isuzu และ Mazda ในออสเตรเลียจ่อโดนฟ้องจากกลุ่มลูกค้าที่ใช้ รถกระบะ Isuzu D-Max และ MU-X รวมถึงคู่แฝดทางด้านวิศวกรรม Mazda BT-50 หลังพบข้อบกพร่องของระบบกันสะเทือน ซึ่งกลุ่มลูกค้าดังกล่างอ้างว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อความปลอดภัย และต้องสลับยาง รวมถึงเปลี่ยนยางบ่อยกว่าปกติ
โดยกลุ่มลูกค้ารถกระบะ Isuzu D-Max , MU-X และ Mazda BT-50 ในออสเตรเลียได้มอบหมายให้สำนักงานกฎหมาย Lawyerly Chamberlains พิจารณาดำเนินคดีแบบกลุ่มกับ Isuzu Ute Australia และ Mazda Australia ซึ่งอ้างว่า
รถกระบะ Isuzu D-Max และ MU-X รวมถึง Mazda BT-50 วางจำหน่ายในออสเตรเลียโดยมีระบบกันสะเทือนที่บกพร่อง ทำให้ยางเกิดการสึกหรอไม่เท่ากันทำให้ต้องสลับยางและเปลี่ยนยางบ่อยกว่าเวลาอันควร
นอกจากนี้ สำนักงานกฎหมายยังอ้างว่ารถกระบะ Isuzu D-Max, MU-X และ Mazda BT-50 ที่ผลิตหลังปี 2019 เป็นต้นมา อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากล้อหน้าสามารถเปลี่ยนทิศทางได้เองหากเคยกระแทกกับวัตถุหรือเมื่อตกหลุมอย่างรุนแรงมาก่อน
และปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับรถกระบะ Isuzu D-Max, MU-X รวมถึง Mazda BT-50 อาจส่งผลต่อราคาขายต่อในอนาคตด้วยเช่นกัน
อย่างที่ทราบกันดี ทั้ง Isuzu D-Max, MU-X และ Mazda BT-50 ใช้พื้นฐานทางวิศวกรรมร่วมกัน และ Mazda ยังมอบให้ Isuzu รับหน้าที่เป็นผู้ผลิตรถกระบะรุ่นดังกล่าวโดยโรงงานของ Isuzu เอง ซึ่งแน่นอนว่าระบบกันสะเทือนหน้าของทั้ง 3 รุ่น เป็นแบบเดียวกันทั้งหมด
ทั้งนี้ จากการรายงานของ drive.com.au ระบุว่า Isuzu D-Max เป็นระกระบะที่มียอดขายเป็นอันดับ 3 ของออสเตรเลียในปี 2566 เป็นรอง Ford Ranger และ Toyota HiLux Revo โดยมียอดขายมากกว่า 31,000 คัน เพิ่มขึ้นเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
รวมถึง Isuzu ยังเป็นค่ายรถที่มียอดขายสูงสุดติดอันดับ 10 ของออสเตรเลียเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่ Mazda ครองอันดับสอง
อย่างไรก็ตาม ทั้ง Isuzu และ Mazda ยังไม่ได้มีการออกมาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด แต่เมื่อกลางเดือนเมษายนนี้ ทาง Isuzu Ute Australia เตรียมเสนอบริการตั้งศูนย์ล้อให้ฟรีด้วยการตั้งค่าที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าว
และในบางกรณีที่ร้ายแรง หรือส่งผลต่อความปลอดภัย อาจมีการเสนอให้เปลี่ยนยาง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ให้กับเจ้าของ ขณะที่ Mazda Australia ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น
แต่ส่วนของซัพพลายเออร์มีการเสนอเปลี่ยนสลักบังคับเลี้ยวให้ ซึ่งมีราคาราว 3,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย/คัน แต่ไม่แน่ใจว่าปัญหาจะหมดไปหรือไม่หากอะไหล่ที่เปลี่ยนยังเป็นพาร์ตสเปกแบบเดิม
ที่มา : drive.com.au