เปลี่ยนยางเองอย่างถูกวิธี
การขับรถไปที่ไหนมาไหนก็ตาม มันย่อมไม่ได้ราบลื่นเสมอไป บางครั้ง รถอาจจะมีปัญหาทำให้เราต้องลงมือทำเอง ถ้าแบบ Basic ง่าย ๆ ก็คือ “ยางแตก” หรือ “ยางแบน” เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถจะเจอกันได้เป็นปกติครับ ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องโมโหโกรธา ท้อแท้ชะตาชีวิต เหตุเกิดเราก็ต้อง “แก้” อย่างกรณีที่เราจะต้อง “เปลี่ยนยางเอง” เมื่อเกิดเหตุกลางทาง ผมเชื่อนะครับ ว่าคนขับรถเกินครึ่ง “เปลี่ยนยางรถตัวเองไม่เป็น” หรือเป็นก็เงอะๆ งะๆ บางครั้งทำให้สิ้นเปลืองเวลามาก ไม่พอนะครับ หากการเปลี่ยนยางแบบไม่ระวัง หรือผิดวิธี อาจจะทำให้ “เกิดอุบัติเหตุ” กับตัวเองได้อีกด้วย ดังนั้น ควรจะเรียนรู้วิธีเปลี่ยนยางอย่างถูกหลัก จะได้ไม่สิ้นเปลืองเวลา หรือเกิดข้อผิดพลาดใดๆ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนครับ ยางแตก จอดในที่ปลอดภัย มีชัยไปกว่าครึ่ง หลังจากที่ท่านรู้ตัวว่ารถท่านยางแบน หรือยางแตก เริ่มชะลอรถลงเรื่อย ๆ ตรงนี้ขอให้ท่านพยายามนำรถชิดขอบทางให้มากที่สุด หรือมองหา “ที่หลบ” อันกว้างขวางหน่อย บางครั้งมันมีอยู่ ท่านลองมองรอบๆ เผื่อจะเจอ ก็ค่อยๆ วิ่งไปช้าๆ อย่าเร็ว และอย่าวิ่งไกลมาก เพราะเมื่อยางแบน ขอบกระทะล้อจะบดยางเส้นนั้นจนเสียหาย ยังไงค่อยๆ ประคองใจเย็นๆ เข้าที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันตัวท่านและรถของท่านให้พ้นจากทางวิ่งสัญจรปกติ แต่ถ้ามันไม่มีจริงๆ ก็พยายามชิดไหล่ทางด้านซ้ายให้มากที่สุด และพยายาม “จอดตรงพื้นเรียบที่สุด” จะได้ขึ้นแม่แรงได้อย่างปลอดภัย ที่สำคัญ เวลาท่านลงจากรถมาทำอะไรก็ตาม “โปรดระวังตัวด้วย” อย่าทะเล่อทะล่าเบ๊อะบ๊ะเดินออกไปให้รถชน พยายามดูให้เรียบร้อยก่อนจะลงมือทำอะไรก็ตาม ไม่ต้องรีบลนลานครับ ใจเย็นๆ
รองล้อให้เรียบร้อย คลายน๊อตล้อก่อนขึ้นแม่แรง เมื่อจอดเสร็จสรรพ ผมแนะนำให้ท่าน “รองล้อ” ให้เรียบร้อยก่อน เพื่อกันรถไหลเคลื่อนตอนขึ้นแม่แรง ถ้ารถเคลื่อนที่ได้ จะเสี่ยงต่อการ “ตกแม่แรง” เกิดอันตรายใหญ่หลวง รถบางรุ่นที่มีราคาหน่อย มันจะมี “แผ่นรองล้อ” สามารถกางขึ้นมาเป็นรูปสามเหลี่ยมเพื่อรองล้อกันรถไหลได้ ถ้ารถคันไหนไม่มีแล้วอยากจะได้ ลองเดินเชียงกงก็จะมีขายอยู่ ไม่แพงครับ แต่ถ้าในขณะนั้นไม่มี ก็ลองหาก้อนหินรองล้อไว้ก็ดีครับ กันเหนียวไว้ก่อน ขั้นตอนต่อไป ให้คุณ “คลายน๊อตล้อ” ก่อนที่จะขึ้นแม่แรง อันนี้อย่าลืม จะปลอดภัยกว่าการขึ้นแม่แรงแล้วค่อยถอดน๊อต ย้ำอีกทีนะครับ “คลายน๊อตล้อก่อนจะขึ้นแม่แรง” เพราะการขันคลายน๊อตระหว่างรถอยู่บนแม่แรง จะต้องใช้แรงพอสมควร ทำให้เกิดแรงเคลื่อนที่ตัวรถ ถ้าแม่แรงรองไม่ดีจริงๆ ตอนเหนี่ยวแรงๆ จะทำให้รถเคลื่อนตกแม่แรงได้ คุณจะได้รับบาดเจ็บด้วยครับ เพราะฉะนั้นคลายก่อนที่จะขึ้นแม่แรงเสมอ ย้ำอีกที แค่คลายนะครับ ไม่ต้องถอด
จับเครื่องมือให้ถูกวิธี เครื่องมือที่ใช้ถอดหรือขันน๊อตล้อ ก็คือ “กากบาท” อันนี้คงพอเคยเห็นกันบ้าง กากบาทจะมี 4 แฉก แต่ละแฉกก็จะมีขนาดที่แตกต่างกันไป ท่านต้องเลือกให้ถูกขนาด ไม่ยากครับ ถ้าไม่รู้จริงๆ ก็ต้อง “ลองเสียบ” ถ้าถูกเบอร์กัน มันจะเสียบเข้าไปสนิทพอดี ถ้าใหญ่เกินขนาดน๊อตล้อไป มันจะหลวม ถ้าเล็กเกิน มันก็จะเข้าเหลี่ยมไม่ได้ อันนี้ไม่ยากครับ หลังจากที่เข้าได้แล้ว ก็ถึงตอนที่จะออกแรงกันแล้วล่ะ การจับกากบาท ให้ใช้ “สองมือจับสองด้านตรงข้ามกัน” โดย “มือซ้ายคว่ำ มือขวาหงาย” โดยใช้น้ำหนักมือขวาดึง แล้วเอาน้ำหนักมือซ้ายกด จะทำให้เกิดแรงถอดได้ง่าย เวลาถอดให้ “นั่งลง” ในท่าชันเข่าข้างขวาขึ้น อย่าก้มเพราะอาจจะทำให้บาดเจ็บที่สันหลังก็ได้ จับให้มั่นแล้วจัดการ “เหนี่ยว” ซะ หรือรถรุ่นใหม่บางรุ่น จะเป็นแค่ด้ามขันธรรมดา อันนั้นก็จับขันออกตามปกติ อ้อ เกือบลืม การขันคลายออกจะเป็นการหมุน “ด้านซ้าย ทวนเข็มนาฬิกา” นะครับ อย่าผิดด้านเดี๋ยวจะยิ่งแน่นเข้าไปใหญ่
การขึ้นแม่แรงอย่างถูกวิธี ผิดวิธีมีเหตุแน่ สิ่งที่สำคัญที่ผมเป็นห่วง ก็คือ “การขึ้นแม่แรงอย่างไรให้ปลอดภัย” ตรงนี้ย้ำอีกทีว่า “น่าเป็นห่วงที่สุด” เพราะขึ้นอยู่กับความปลอดภัยโดยตรง ปกติแล้ว แม่แรง หรือ “ตะเข้” ติดรถ ถ้าเป็นของรถญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ก็จะมีสองด้าน เอาด้านที่เป็น “แป้นกลม” หรือ “แท่นสี่เหลี่ยม” อยู่ด้านล่าง ตรงนั้นมันเป็นจุดที่ต้องสัมผัสพื้น ส่วนอีกด้านที่เป็น “หัวบาก” ตรงร่องหัวบากนั้น จะเอาไว้ “เสียบเข้ากับตะเข็บชายล่างของตัวถังรถ” โดยจุดที่ให้เอาแม่แรงขึ้นนั้น ให้คุณ “ดูคู่มือประจำรถ” มันจะมีบอกขั้นตอนไว้เสร็จสรรพ ใครไม่เคยดูก็หัดดูเสียบ้าง หลังจากที่รู้ว่าอยู่ตรงไหนแล้ว ก็ก้มดูชายล่างของรถ มันจะมี “ร่องเว้า” ทั้งด้านหน้าและหลัง เอาแม่แรงวางไว้ตรงจุดนั้น ขันแม่แรงขึ้น จัดให้ “ร่องบากมันเสียบเข้ากับตะเข็บชายล่างของรถ ในจุดที่เป็นร่องบาก” ได้อย่างพอดี แล้วก็ขันแม่แรงขึ้น ส่วนของรถยุโรป บางรุ่นจะเป็นแบบ “เสียบข้าง” หน้าตาจะไม่เหมือนกันกับของรถญี่ปุ่น ก่อนอื่นให้คุณหา “จุดเสียบ” ก่อน มันจะอยู่ที่ชายล่าง จะมีฝาปิดพลาสติกกลมๆ ปิดอยู่ หาไม่ยากหรอกครับ จัดการเปิดฝานั้นออกมา ด้านในจะเป็นรูให้เสียบเดือยแม่แรง ก็เสียบเข้าไปแล้วขันขึ้นแค่นั้นเอง
ข้อควรระวัง หาก “วางแม่แรงผิด” ที่เคยเจอ อันดับแรก “กลับหัวกลับหาง” เอาด้านบนไว้ล่าง เอาด้านล่างขึ้นบน อย่าเพิ่งหัวเราะครับ เจอมาจริงๆ คนไม่เป็นดันวางกลับด้าน ดีว่าช่วยบอกพี่เขาไว้ก่อน อันนี้ “โคตรอันตราย” นะครับขอบอก เพราะจุดรับแรงมันไม่เหมือนกัน เอาร่องบากไว้ข้างล่าง มันเป็นจุดเล็กๆ ไม่สามารถรับแรงได้แน่ ก็มีโอกาส “แม่แรงพลิก” รถตกลงมาได้ง่ายมากๆ ตรงนี้ระวังอย่างแรง อีกประการ วางแม่แรงถูกด้าน แต่ “ผิดตำแหน่งที่ตัวรถ” โดยปกติ จุดขึ้นแม่แรงจะอยู่ใกล้กับล้อ เพราะตรงนั้นจะทำให้ยกง่ายที่สุด บางท่านดันไปเสียบไว้กลางรถ ทำให้ยกรถยาก และอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้ หรือไม่เสียบที่ตะเข็บชายล่าง เอาไปวางไว้จุดอื่น ก็อันตรายเหมือนกันครับ เพราะแม่แรงติดรถมันเจาะจงมาให้ใช้ “เฉพาะจุด” เท่านั้น ไม่เหมือนแม่แรงปกติ ที่สามารถยกตรงจุดอื่นได้ ระวังด้วยนะครับ หลังจากที่ขึ้นแม่แรงเรียบร้อยแล้ว ก็ถอดน๊อตล้อออก อันนี้จะไม่ยากเพราะเราได้คลายไว้แล้วก่อนขึ้นแม่แรงนั่นเอง
เอาล้อที่เปลี่ยนออกรองใต้ท้องรถด้วยครับ หลังจากที่ถอดล้อออกมาได้แล้ว ก็จับมันนอนลง แล้วสอดล้อเข้าไปที่ใต้ท้องรถแถวๆ นั้นด้วยนะครับ เป็นการ “กันเหนียว” ผมก็ไม่กล้ารับประกันว่ามันจะเกิดเหตุอะไรขึ้น จู่ๆ แม่แรงดันยุบตัวลงเอง จากความเก่า ล็อกไม่อยู่ หรือเกิดเหตุรถร่วงจากแม่แรงด้วยเหตุใดก็ตาม อย่างน้อยมันก็ “ทับล้อที่เราสอดไว้” ไม่หล่นโครมมาทำให้ท่านบาดเจ็บ หรือรถพังเสียหายจากการที่หล่นกระแทกพื้นแรงๆ ครับ
ใส่ล้อแล้ว หมุนน็อตล้อคาไว้พอตึงมือก่อน อย่าเพิ่งกวดแน่น !!! เอาล่ะครับ เมื่อท่านเอาล้ออะไหล่มาใส่แล้ว อย่าลืมเอาน๊อตล้อใส่ไว้ให้ครบทุกตัว ขันน๊อตล้อเข้าไปให้พอตึงมือนิดหน่อยพอ “อย่าขันน๊อตล้อแน่นขณะที่รถลอยอยู่เป็นอันขาด !!!” เหตุผลเดียวกันกับข้อที่ผ่านมาครับ ถ้าขันแรงๆ มีโอกาสที่รถจะตกแม่แรงอย่างที่ผมบอกไปแล้ว ไว้เอารถลงก่อนแล้วค่อยขันให้แน่น จะเป็นการปลอดภัยที่สุดครับ ตอนนี้เป็นขั้นตอนลงแม่แรง ก่อนอื่นเอาล้อที่สอดไว้ใต้ท้องออกก่อน ก่อนจะขันแม่แรงลง ขอให้ก้มสำรวจสักนิด ว่ามี “สิ่งมีชีวิตอะไรอยู่ใต้ท้องรถหรือเปล่า” บางทีท่านทำเพลินๆ อยู่ อาจจะมีหมาแมวอะไรมานอนเล่นใต้ท้องรถ ยังไงก็ไล่มันไปก่อนแล้วกัน
ขันน๊อตล้อให้แน่น อย่าลืม อย่าลืม อย่าลืม !!! หลังจากที่ปล่อยแม่แรงลงแล้ว เก็บแม่แรงให้เรียบร้อย ขั้นตอนสุดท้ายนี้ “สิวสิว” ครับ แต่ที่จะ “ตายห่_” ก็เพราะ “ลืมขันน๊อตล้อให้แน่น” นี่แหละ ตรงนี้เจอประจำครับ ขันไม่แน่น หรือขันแน่นไม่ครบทุกตัว ขันแม่มอยู่ 2 ตัว อีก 3 ตัว ไม่ได้ขัน ที่เลวร้ายแบบ “ต้องด่า” ให้อภัยไม่ได้คือ “ลืมขันน๊อตล้อทั้งหมด” จะหาเรื่องตายก็นี่แหละครับ ผมไม่ได้อำคุณเล่นนะ เจอไอ้แบบนี้มาหลายคนมากๆ เพราะฉะนั้นห้ามลืมเด็ดขาด !!! และฝากย้ำเตือนไปด้วย หากท่านไปเปลี่ยนล้อหรือเปลี่ยนยางที่ไหนก็ตาม “ควรจะดูด้วยว่าคนขันได้ขันน๊อตล้อแน่นทุกตัวหรือไม่” เจอเยอะครับ ไอ้ช่างชุ่ยๆ มันมีอยู่เยอะมาก ยังไงยืนดูให้มันขันน๊อตให้แน่นและครบหน่อยแล้วกัน อย่าปล่อยเด็ดขาด แต่ถ้าท่านเปลี่ยนเอง ก็ต้องขันให้แน่นทุกตัว ไม่ต้องถึงกับโหนสุดชีวิต เอาว่า “ตึงมือ” ก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องโหนกันสุด ๆ ทำเป็น ปลอดภัย รวดเร็ว หลังจากที่ท่านได้อ่านบทความเรื่องนี้จบ ก็หวังว่าจะนำไปใช้ในเหตุการณ์จริงได้พอสมควร มันอาจจะดูเป็นเรื่องพื้นๆ ที่ใครๆ ก็ “เหมือนจะรู้” แต่ “คนรู้จริงทำเป็นจริงๆ มีน้อย” มันไม่ใช่เรื่องที่คนไม่เคยทำจะรู้ได้ ทุกอย่างต้องมีการเรียนรู้ก่อน และทำตามขั้นตอน จะทำให้การทำงานทุ่นเวลาและแรงกายไปได้เยอะ รวมถึงได้ความปลอดภัยมาอีกด้วย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ทำเร็ว แต่ไม่ปลอดภัยก็จะมีประโยชน์อะไร คราวหน้าจะเอาเรื่องดีๆ ที่เป็นประโยชน์มาฝากอีก ไว้เจอกันครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก rongrod.com