Toyota Yaris Ativ หยุดขายชั่วคราวจากปัญหาทดสอบการชนด้านข้าง
Toyota Yaris Ativ ประกาศหยุดรับจองในไทย หลังมีการแถลงยอมรับว่ารถที่ทำการทดสอบการชนด้านข้างสเปกไม่ตรงกับที่วางจำหน่าย แต่ยังยืนยันรถที่จำหน่ายไปแล้วไม่มีผลกระทบและไม่ต้องแก้ไข
หลังจาก Daihatsu ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดย Toyota และเป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาตัวถังรวมถึงการรับรองรถยนต์ Toyota Yaris Ativ ได้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 โดยยอมรับรถที่ส่งทำการทดสอบการชนด้านข้างตามมาตรฐาน UN R95 มีสเปกต่างจากรถที่วางจำหน่ายจริง
ล่าสุด Toyota ประเทศไทย ก็ได้มีการประกาศชี้แจงถึงกรณีการทดสอบการชนด้านข้าง (UN R95) ของ Toyota Yaris Ativ โฉมปัจจุบัน โดยบริษัทไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด ซึ่งผลิตที่โรงงานของโตโยต้า 2 แห่งในภูมิภาคเอเชีย คือ ไทยและมาเลเซีย ดังนี้
- ขอหยุดรับจองและส่งมอบรถชั่วคราวสำหรับตลาดที่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทดสอบการชนด้านข้าง UN R95 (ซึ่งรวมไทยด้วย)
- Daihatsu ได้ดำเนินการทดสอบการชนด้านข้างของ Toyota Yaris Ativ สเปกที่ผลิตจำหน่ายจริงเป็นการภายในอีกครั้งตามมาตรฐาน UN R95 และยืนยันว่าเป็นไปตามข้อกำหนด UN R95 ทั้งหมด
- เมื่อทดสอบซ้ำแล้วจึงมีความเห็นว่า “ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไข ซึ่งทาง Toyota ยืนยันว่าลูกค้าสามารถใช้งานรถต่อไปได้ตามปกติ”
- เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 มีการจัดทดสอบการชนด้านข้างต่อหน้าหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการทดสอบอีกครั้ง ซึ่งได้รับการอนุมัติว่าเป็นไปตามข้อกำหนด UN R95
- สำหรับประเทศไทย มีความจำเป็นที่ต้องตรวจสอบซ้ำในประเทศญี่ปุ่นตามข้อกำหนดการทดสอบพยาน (witness testing) จึงมีความจำเป็นต้องหยุดจัดส่งและจำหน่ายชั่วคราว หลังจากนี้ บริษัทจะทำการเร่งจัดส่งรถให้เร็วที่สุด ภายใต้คำแนะนำและการตรวจสอบอนุมัติโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ทางด้านสาเหตุความไม่สมบูรณ์ในขั้นตอนการเตรียมการทดสอบนั้นยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ทั้งนี้ การทดสอบการชนด้านข้างตามข้อกำหนด UN R95 คือ การทดสอบเพื่อพิสูจน์ความปลอดภัยของรถยนต์ในเการปกป้องผู้ขับขี่จากการชนด้านข้าง โดยการนำแบบจำลองหัวรถยนต์ที่สามารถยุบตัวได้ (Deformable Barrier) เคลื่อนที่พุ่งเข้าชนรถยนต์ทดสอบซึ่งจอดอยู่นิ่ง ในแนวตั้งฉากด้านข้าง (ด้านผู้ขับขี่) ด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. และภายหลังการชน จะมีการตรวจสอบ ดังนี้
- สภาพของหุ่นจำลอง (ผู้ขับขี่) ได้แก่ การบาดเจ็บที่หัว ไม่เกิน 1,000, การบาดเจ็บที่หน้าอกยุบไม่เกิน 42 มม. และ Soft Tissue Criterion ไม่เกิน 1 , แรงกดหน้าท้องไม่เกิน 2.5 Kn และแรงกดที่หัวหน่าวไม่เกิน 6 Kn
- หากมีการรั่วของน้ำมันเชื้อเพลิงและระบบป้อนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องไม่เกินกว่า 30 กรัม/นาที
- ต้องสามารถนำหุ่นจำลองออกจากรถทดสอบได้
- ต้องสามารถปลดล็อกระบบป้องกันได้
- ไม่มีการเสียรูปของอุปกรณ์ภายในที่ทำให้แหลมคมและมีอัตราเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
ที่มา : Toyota, Daihatsu และ car.go.th