Bugatti Tourbillon พร้อมรับช่วงต่อ Chiron ด้วยเครื่อง วี 16 สูบ 1,800 แรงม้า
Bugatti Tourbillon ไฮเปอร์คาร์โลกตะลึง เผยโฉมอย่างเป็นทางการ พร้อมสานต่อตำนานต่อจาก Veyron และ Chiron ด้วยชื่อ แพลตฟอร์ม และเครื่องยนต์ใหม่แบบไฮบริดที่ผลิตม้าได้ 1,800 ตัว
ก่อนอื่นที่เราอยากแจ้งให้ทราบคือ Bugatti Tourbillon ได้เทเครื่องยนต์ ดับบลิว 16 สูบ พ่วงเทอร์โบ 4 ลูก (คล้ายกับการเอาเครื่องวี 8 สูบ วางซ้อนกันเป็นตัวดับบลิว) ขนาด 8.0 ลิตร ไปเป็นเรียบร้อย และหันไปใช้เครื่องยนต์ วี 16 สูบ ขนาด 8.3 ลิตร บล็อกใหม่เอี่ยม
โดยเครื่องยนต์ใหม่นี้ใช้เพลาข้อเหวี่ยงแบบ cross-plane แต่รอบจัด หมุนจี๊ดได้ถึง 9,000 รอบ/นาที พัฒนาโดยสำนัก Cosworth ผู้โด่งดัง จนได้กำลัง 1,000 แรงม้า และแรงบิด 900 นิวตันเมตร และไม่มีเทอร์โบแม้แต่ลูกเดียว
แต่ Bugatti Tourbillon เลือกบรรจุเทคโนโลยีไฮบริด โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว เข้ามาแทนที่เทอร์โบ 4 ลูก ตามสไตล์ดั้งเดิม ช่วยเสริมกำลังได้อีก 800 แรงม้า โดยมอเตอร์ 2 ตัว วางบนเพลาหน้า และอีก 1 ตัวบนเพลาหลัง ให้กำลังรวมกันทั้งสิ้น 1,800 แรงม้า วิ่งด้วยไฟฟ้าล้วนได้ไกล 60 กิโลเมตร เผื่อว่ามหาเศรษฐีเกิดอยากประหยัดค่าน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนเครื่องยนต์ครั้งนี้ทำให้ Bugatti ต้องจัดการกับโครงสร้างภายใต้ตัวถังคาร์บอนไฟเบอร์ของ Bugatti Tourbillon ใหม่ ให้สามารถแมตช์เข้ากับห้องโดยสารซึ่งออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์มากขึ้น
ส่วนบานประตูเป็นแบบปีกผีเสื้อ หรือ dihedral doors เพิ่มความอลังการและดึงดูดสายตา ตัวรถนั้นถูกทำให้เตี้ยลง ดูก้าวร้าวมากขึ้น ขณะที่ด้านหลังเบาะนั่งจะเป็นที่อยู่ของเครื่องยนต์และตามด้วยเกียร์คลัตช์คู่ 8 สปีด และตรงกลางเป็นตำแหน่งวางแบตเตอรี่ขนาด 21 kWh
ทางด้านชื่อใหม่ Tourbillon ไม่ใช้ชื่อนักแข่งรถเหมือน Veyron หรือ Chiron แต่ได้แรงบัลดาลใจจากนาฬิกากลไกตูร์บิยง (Tourbillon ในภาษาฝรั่งเศส) ผ่านแผงหน้าปัดมีลักษณะเหมือนกลไกนาฬิกา
ซึ่ง “ในอดีต” กลไก Tourbillon ถือเป็นงานฝีมือที่ละเอียด ประณีตขั้นสุด มีผู้ผลิตนาฬิกาเพียงไม่กี่แบรนด์ที่สามารถทำได้ กระจกเรือนไมล์ทำจากแซฟไฟร์คริสตัลที่ผ่านการขัดสี ซึ่งเป็นวัสดุราคาสูงที่ช่างทำนาฬิกาใช้กันรอยขีดข่วน
ทั้งหมดนี้เพื่อให้ Bugatti Tourbillon ดูเป็นของจริง ไม่ใช่แค่หน้าจอดิจิทัลและภาพกราฟฟิกปลอม ๆ แต่ไม่ตกยุค แม้เบื้องหน้าจะเป็นระบบแอนาล็อก แต่ไฮเทคด้วย AI สามารถเข้าใจ รับรู้ความต้องการ และสนทนากับผู้ขับขี่ได้
เพราะมันติดตั้งจอมัลติฟังก์ชันแบบเก็บซ่อนตัวเองได้แบบ 100% นอกจากนี้ พวงมาลัยของ Bugatti Tourbillon ยังออกแบบให้แกนกลางพวงมาลัยตายตัว ไม่หมุนตาม และไม่บังเรือนไมล์ระดับ Art Piece ซึ่งประกอบไปด้วยตัวเลขและเข็มลอยตัว มีหน้าจอบอกความเร็วขนาดเล็กสำหรับผู้ที่ต้องการเห็นอะไรที่เป็นพิกเซลบ้าง
ทางด้านงานออกแบบภายนอก ยังคงเอกลักษณ์กระจังหน้ารูปเกือกม้าและเส้นโค้งด้านข้างรูปตัว C รวมถึงสันครีบบนหลังคา เพื่อเชื่อมโยงให้ Tourbillon เข้ากับ Chiron และ Bugatti รุ่นตำนานในอดีต ไม่ว่าจะเป็น Bugatti Type 57SC Atlantic หรือ Bugatti Type 35
อีกสิ่งที่ Bugatti Tourbillon แตกต่างจากไฮเปอร์คาร์อื่น ๆ คือความพยายามซ่อนเร้นครีบหางต่าง ๆ ที่ใช้จัดระเบียบกระแสลมและควบคุมการไหลผ่านของอากาศอย่างที่สุด
เริ่มตั้งแต่การจัดการกับกระแสลมด้านหน้ารถให้ไหลผ่านเข้าไปยังดิฟฟิวเซอร์ซึ่งทำจากคาร์บอนไฟเบอร์อยู่ใต้ครึ่งหลังของตัวรถ เพื่อทำหน้าที่เป็นเบรกอากาศโดยไม่เพิ่มแรงฉุดลากไปจนถึงความเร็วสูงสุดที่ 445 กม./ชม. และสามารถเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้ภายในเวลาประมาณ 2 วินาที ไปจนถึง 402 กม./ชม. ได้ภายใน 25 วินาที โดยประมาณ
อย่างไรก็ตาม Bugatti ตั้งใจจะผลิต Bugatti Tourbillon แค่ 250 คัน ตามแผนจะเริ่มการผลิตในปี 2026 และแน่นอนว่าผู้ที่ต้องการมันต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมหาศาล พร้อมเงื่อนไขที่ว่าต้องมีประวัติการซื้อ Bugatti หรือ Rimac ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้ากลุ่มไฮเปอร์คาร์ในเครือมาก่อน
ที่มา : Bugatti