จับกระแส! รถยนต์ไฟฟ้า เกาะเทรนด์ ‘รักษ์สิ่งแวดล้อม’ ในไทย จะร่วงหรือไปรุ่ง (ตอนที่ 1)
ท่านผู้ชมเว็บไซต์ autotirechecking ครับ คุณรู้จัก “รถยนต์ไฟฟ้า” แค่ไหน ในภาวะโลกร้อนคุกคามแบบปัจจุบัน เทคโนโลยีที่เราพึ่งพากันมานับร้อยปีอย่าง เครื่องยนต์สันดาปหรือเชื้อเพลิง ‘น้ำมัน’ ดูจะเริ่มเข้าใกล้ทางตัน ทั้งประสิทธิภาพเชิงสมรรถนะ ความประหยัด และที่สำคัญ ‘ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ เสียแล้ว แม้แต่ประเทศไทยที่ใช้รถเพื่อการพาณิชย์ขนาด 1 ตัน (กระบะดีเซล) มากที่สุดในโลก ก็ยังหนีกระแสการแข่งขันไม่พ้น ว่าแต่เราพร้อมจริงไหมที่จะไปสู่ยุค ‘รถไฟฟ้า’ ทั้งเต็มตัวหรือครึ่งตัว หรือมันจะเป็นแค่กระแส ‘คุณหลอกดาว’ ให้เราอยู่กับน้องเชื้อเพลิงฟอสซิลไปยาวๆ วันนี้ เว็บไซต์ autotirechecking ของเราจะมาวิเคราะห์จับกระแสกันครับ
[ตอนที่ 1: เทรนด์สิ่งแวดล้อม ‘สะกิด’ ผู้ผลิต]
‘มาตรการสิ่งแวดล้อม’ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ในยุค 2020 อย่างที่ก่อนหน้านี้เราเคยเห็นหลายประเทศ ‘แบน’ ดีเซลที่ไม่มีเครื่องกรองอนุภาค (DPF) ไม่ให้เข้าเมือง เพราะฝุ่นควัน ไอเสีย PM 2.5 จากนั้นก็ ‘แบน’ การนำเข้าน้ำมันปาล์มส่วนผสมไบโอดีเซลที่ไม่มีเครื่องหมายรับรองการผลิตอย่างยั่งยืน แบนไปแบนมา จะแบนดีเซลทั้งหมด…
…แล้ว VW/Audi ก็แพลมๆ จะออกรถ+เครื่องดีเซลรุ่นใหม่กลางปีเฉ๊ยยย ไปคุยกันมาให้จบก่อนดีไหมครับเพ่
ถึงจะมึนๆ กันอยู่อย่างนั้น หากไม่นำหลักวิศวกรรมมาออกแบบให้ล้ำๆ จนมีประสิทธิภาพโดดเด่น ก็คงต้องเริ่มพึ่งเทคโนโลยีอื่นเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น อย่างเช่น
- เทรนด์ Downsizing Turbo ลดความจุ+พ่วงเทอร์โบ ที่ได้หลายประสงค์ในเวลาเดียวกัน ทั้งน้ำหนักรถยนต์ลด รับประทานน้ำมันก็ลด แถมได้กำลังรอบต้น-เร่งแซงเทียบเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น อย่างที่หลายค่ายในไทยนำมาใช้แล้วก็ติดใจผู้ใช้ไปตามๆ กัน เช่น 5 VTC Turbo ของ Honda Civic FC/FK เป็นต้น (รูป: Civic FK เว็บทางการ Honda) ขึ้นชื่อว่าเทอร์โบ ก็มีข้อกังขาเรื่องความทนทานของชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเครื่องที่รับกำลังอัดเพิ่ม หรือเกียร์ ที่ต้องรับแรงกระชาก-แรงบิดทันตาเห็น แล้วอายุการใช้งานระยะยาวจะยั่งยืนหรือไม่ ต้องไขว่คว้าหาคำตอบกันต่อไป
- พัฒนาเครื่องยนต์ N/A สำหรับผู้คลั่งไคล้ RPM Lover แบบเดิม เพิ่มเติมคือความไหลลื่น อย่างเช่นที่ Mazda ทำกับเครื่อง Skyactiv เบนซินในเจเนอเรชั่นปัจจุบัน ที่ฉีดตรง-กำลังอัดสูง (รูป: Mazda 3 Skyactive ตัวปัจจุบัน เว็บทางการ Mazda) ทำให้ได้อัตราสิ้นเปลืองและสมรรถนะโดยรวมสูงกว่าเครื่องยนต์เจเนอเรชั่นเดิม แต่ก็มีข้อจำกัดที่จะ ‘ไปได้อีกไม่มาก’ เพราะมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ สุดท้ายก็จะต้องเข้าลูป Downsizing Turbo หรืออะไรประมาณนั้น
อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่หลายค่ายพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง (บ้างก็แอบถอดใจ) คือ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ หรือ Electric Vehicle
จุดเด่นของมอเตอร์ไฟฟ้าที่มากกว่าเครื่องยนต์สันดาปทั่วไปนั้น คือ สามารถให้กำลังขับเคลื่อนสูงสุดได้แทบจะทันทีตั้งแต่ออกตัว หรือพูดง่ายๆ “ไม่ต้องรอรอบ” ถึงอาจจะไม่กดเป็นมา แต่ก็เรียกได้ว่าจัดเต็มตั้งแต่เริ่มตื้บ(คันเร่ง) อย่างที่เราเห็นรถยนต์ Tesla รุ่นทอปๆ ที่มี Insane Mode เหยียบออกตัวที คนนั่งแทบจะทิ้งหัวไว้ข้างหลังนั่นแหละครับ 0-100 กม./ชม. มีประมาณ 2 วินาทีบวกลบ ซึ่งเกินขีดจำกัดเครื่องยนต์ธรรมดาไปมาก แต่ก็มีข้อจำกัดว่าต้องมีแหล่งกำเนิดไฟหรือเก็บไฟฟ้าไว้ให้มอเตอร์ทำงาน เช่น แบตเตอรี ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อต้นทุนการพัฒนา-ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
รถยนต์ที่มีระบบไฟฟ้าในการขับเคลื่อนนี้ แบ่งแยกย่อยได้อีกหลายอนุกรม ไม่ว่าจะเป็น ‘Full EV’ ที่ต้องพึ่งพาแหล่งกำเนิดไฟพลังสูงเพื่อชาร์จ ‘Hybrid EV’ ที่เติมน้ำมันวิ่ง แล้วเอามอเตอร์ไฟฟ้าที่มักจะมีระบบชาร์จกลับ Regenerative ไม่ก็เสียบปลั๊กชาร์จมาพ่วงเพื่อช่วยเพิ่มอัตราเร่ง ไปจนถึงระบบแปลกตาสำหรับรถยนต์นั่ง-แต่ไม่แปลกใจสำหรับรถไฟ คือระบบ ‘เดินเครื่องน้ำมัน-ปั่นมอเตอร์ไฟฟ้า-ลากมาปั่นล้อ’ คือ “e-Power” ของเจ้า Nissan เป็นต้น
ความหลากหลายของเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าในอุตสาหกรรมรถยนต์นี้ นอกจากจะเป็นความท้าทายของผู้ผลิตในการพัฒนารูปแบบที่คุ้มทุน-คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพโดดเด่นแล้ว ผู้กำกับดูแลคือภาครัฐ และผู้ใช้รถยนต์เองก็ต้อง “รู้เท่าทัน” รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือเทคโนโลยีเหล่านี้ ที่น่าจะมาถึงในอนาคตอันใกล้
ในตอนต่อไป ทางทีมงาน autotirechecking จะมาเล่าปูพื้นความเป็นมาเป็นไปของทิศทางอุตสาหกรรมและนโยบายรัฐบาลที่เกื้อหนุนการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า-ไฟฟ้าผสม ในประเทศไทย ให้ท่านผู้ชมได้ทราบกันอย่างถึงลูกถึงคน เพราะหนึ่งในตัวเลือกรถยนต์คันต่อไปในบ้านของท่านอาจกลายเป็นรถไฟฟ้า ก็เป็นได้ แล้วเรามาติดตามชมกันในสัปดาห์หน้านะครับ ?